การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

 

     การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเทคนิคการสร้างภาพทางการแพทย์เพื่อให้สามารถพิจารณาโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในหลายมุมมอง โดยสามารถแสดงความแตกต่างของเนื้อเยื่อประเภทต่างๆ ได้ดีกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในการตรวจสมอง กระดูกและกล้ามเนื้อ หลอดเลือดหัวใจ รวมไปถึงการตรวจหาเนื้อร้ายต่างๆ ข้อดีที่สำคัญก็คือการตรวจนี้ไม่มีปริมาณรังสี เนื่องจากหลักการในการตรวจคือการปรับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของอะตอมไฮโดรเจนในน้ำทั้งหมดที่อยู่ในร่างกาย ให้บิดไปตามแนวสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ให้ไป เพื่อให้นิวเคลียสของไฮโดรเจนไม่เสถียร และพยายามปรับหมุนกลับเข้าที่เดิม ซึ่งจะคายพลังงานออกมาส่วนหนึ่ง พลังงานนี้จะถูกตรวจจับไว้ด้วยเครื่องมือรับสัญญาณและจะถูกแปลงมาเป็นภาพอีกชั้นหนึ่ง

     ปัจจุบันเป็นการตรวจที่นิยมเนื่องจากให้รายละเอียดของการตรวจที่ค่อนข้างมาก และสามารถแสดงภาพได้ในมุมมองต่างๆ และภาพ 3 มิติ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     การตรวจที่นิยมส่งตรวจได้แก่

  • สมอง

  • กระดูกสันหลังและข้อต่อต่างๆ

  • ศีรษะและลำคอ

  • ตับ

  • ช่องท้องทั้งหมด

ภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองหน้าตรง

ภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองแบบตัดขวาง

ประวัติ

     การพัฒนาและประยุกต์หลักการกำทอนของนิวเคลียส (resonance) ได้ถูกค้นพบในปีพ.ศ. 2489 โดยนักวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน คือ Felix Bloch แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ Edward M. Purcell แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกันในปี พ.ศ. 2495 ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2520 ได้มีการศึกษาผลของการกำทอนกับโครงสร้างโมเลกุลของสารอินทรีย์ การผ่อนคลายของโปรตอนในสนามแม่เหล็กโดย Raymond Damadian การสร้างภาพตัดขวางของวัตถุโดย Paul Lauterbur และความรู้ในการเลือกความถี่ในการกระตุ้นนิวเคลียสให้สอดคล้องกับสนามแม่เหล็กเพื่อให้เกิดระนาบของภาพโดย Peter Manfield และได้สร้างภาพนิ้วมือและลำตัวของมนุษย์ได้ (การทดลองเทียม) สำเร็จในปี พ.ศ. 2520 จากนั้นจึงได้มีการขยายตัวในวงการแพทย์ขึ้น

หลักการทางฟิสิกส์ของการตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

     เมื่อนำผู้ป่วยเข้าไปในเครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า อะตอมไฮโดรเจรซึ่งมีอยู่จำนวนมากในน้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของร่างกายจะถูกสนามแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้เรียงตัวไปในแนวทางเดียวกัน จากนั้นจะมีการให้คลื่นความถี่วิทยุที่ตรงกับความถี่ของอะตอมไฮโดรเจน ซึ่งเรียกว่าความถี่ลามอร์ (Lamor) เพื่อให้โปรตอนดูดกลืนพลังงานและผลักให้โปรตอนบางตัวเคลื่อนไปจากแนวสนามพลัง เมื่อโปรตอนพยายามกลับเข้าสู่แนวสนามพลัง มันจะสร้างสนามพลังในการหมุนตัวของมันเองขึ้น ซึ่งสามารถตรวจจับได้ โดยที่โปรตอนของเนื่องเยื่อที่ต่างกัน เช่น ไขมัน และกล้ามเนื้อ จะมีการกลับเข้าสู่แนวสนามพลังไฟฟ้าด้วยความเร็วแตกต่างกัน ทำให้สัญญาณที่จับได้มีความแตกต่างกัน และนำมาผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพอวัยวะที่แสดงรายละเอียดสูงได้ สนามพลังไฟฟ้าทำให้เครื่องจับสัญญาณจะทำการจับสัญญาณเฉพาะในระนาบหนึ่งๆ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น slice ก็ได้ และสัญญาณนั้นสามารถนำมาสร้างใหม่เป็นภาพ 3 มิติได้ สารเปรียบเทียบต่างซึ่งประกอบด้วยโมเลกุลของโละหะหนัก (Gadolinium) จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก และจะได้ภาพของหลอดเลือดที่ชัดเจน สามารถแยกเนื้อเยื่อว่าเป็นเนื้อร้ายหรือมีการติดเชื้อได้ การตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจึงมีความปลอดภัย และใช้เพื่อการตรวจการทำงานของสมอง ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ การประเมินเนื้อร้ายและความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดหัวใจ

ภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากล้ามเนื้อขา

ภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระดูกสันหลัง

ความปลอดภัยในการตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

     การตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าต้องการการพิจาณณาอย่างละเอียดรอบคอบในหลายองค์ประกอบเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้แก่

     อุปกรณ์และอวัยวะเทียม

        เนื่องจากการตรวจมีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ และเหนี่ยวนำอวัยวะเทียมให้เกิดสนามพลังไฟฟ้าได้ ดังนั้นจะต้องระมัดระวังอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจเนื่องจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือความถี่วิทยุที่ใช้ในการตรวจอาจเหนี่ยวนำทำให้สัญญาณของเครื่องกระตุ้นหัวใจทำงานผิดพลาดได้ ซึ่งผลนี้อาจเกิดได้ในอุปกรณ์กระตุ้นสัญญาณประสาทอื่นๆ ได้อีกด้วย รวมไปถึงอวัยวะเทียมที่ฝังอยู่ในร่างกายอาจเกิดการเหนี่ยวนำกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากลายเป็นความร้อนที่จะทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือการขยับออกจากตำแหน่งที่ฝังไว้ก็ได้ และอุปกรณ์โลหะบางอย่างอาจทำให้สัญญาณภาพเสียไปได้ด้วยเช่นกัน

     สัญลักษณ์สำหรับอุปกรณ์และอวัยวะเทียมสำหรับการตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

         เนื่องจากโลหะอาจเกิดการเหนี่ยวนำจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่ผู้ป่วย ดังนั้นทาง ASTM International และ FDA จึงได้กำหนดสัญลักษณ์ไว้ดังนี้

อุปกรณ์มีความปลอดภัยต่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า MR Safe sign

อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียมไม่เป็นแม่เหล็ก ไม่ก่อให้เกิดสนามไฟฟ้า และไม่มีปฏิกิริยากับคลื่นความถี่วิทยุ ไม่มีอันตรายต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงระหว่างการตรวจ

อุปกรณ์มีความปลอดภัยต่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ต้องพิจารณะอย่างระมัดระวัง MR Conditional sign

อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียมอาจจะมีสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเหนี่ยวนำให้เกิดสนามไฟฟ้าได้ หรืออาจจะมีปฏิกิริยากับคลีนความถี่วิทยุ แต่ว่าได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยกับเครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าบางรุ่นแล้ว เช่น เครื่องขนาด 1.5 Tesla หรือปลอดภัยในสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เข้มต่ำกว่า 500 gauss

อุปกรณ์ไม่มีความปลอดภัยต่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า MR Unsafe sign

อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียมอาจมีสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเหนี่ยวนำให้เกิดสนามไฟฟ้าได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรือต่ออุปกรณ์อื่นๆ ในห้องตรวจได้

     อันตรายจากโลหะ Projectile or missile effect

          เมื่อมีโลหะเข้าไปในห้องตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โลหะจะถูกดึงดูดไปยังศูนย์กลางของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในลักษณะการเคลื่อนที่แนวโค้ง หรือพุ่งไปอย่างลูกกระสุน โดยมีความแรงที่จะทำให้เกิดอันตราย บาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องถอดเครื่องประดับ และวัตถุที่มีโลหะออกทั้งหมดก่อนเข้าห้องตรวจ

     ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ Radio frequency energy

         คลื่นความถี่วิทยุที่ให้ไปขณะตรวจสามารถที่จะทำให้เกิดความร้อนขึ้นในร่างกายได้หรือทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิร่างกายผิดพลาดได้

     การกระตุ้นประสาทส่วนปลาย Peripheral nerve stimulation

          การปรับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าให้มีหรือหายไปอย่างรวดเร็วระหว่างการตรวจ ทำให้เกิดการกระตุ้นประสาทส่วนปลาย ทำให้รู้สึกเจ็บแปลบโดยเฉพาะที่แขน หรือขาได้

     เสียงดังรบกวน Acoustic Noise

          การปรับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการหดตัวและขยายตัวของแถบขดลวดรับสัญญาณ ซึ่งทำให้เกิดเสียงที่ดังและมีความสั่นสะเทือน โดยมีระดับความดังถึง 130 dB. ซึ่งเป็นอันตรายต่อหูชั้นในได้ ดังนั้นอุปกรณ์อุดหูจึงเป็นสิ่งจำเป็นระหว่างการตรวจ

     การรั่วของฮีเลียม Cryogens

          หากเครื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าปิดตัวเองอย่างฉุกเฉิน อาจทำให้เกิดการขยายตัวของฮีเลียมซึ่งใช้ในการรักษาความเย็นของเครื่อง และอาจรั่วไหลจากท่อออกไปสู่ห้องตรวจได้ และจะเข้าแทนที่ออกซิเจน และทำให้เกิดภาวการณ์ขาดอากาศหายใจได้

     สารเปรียบเทียบต่าง

          สารเปรียบเทียบต่างที่ใช้ร่วมในการตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จะเป็นสารประกอบ chelates ของ gadolinium ซึ่งจะฉีดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าสารทึบรังสีในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยมีอัตราแพ้น้อยกว่า 0.1% และสามารถใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาของไต แต่กระนั้นหากผู้ป่วยล้างไต ก็ยังจะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ

     การตั้งครรภ์

          จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีรายงานใดแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการตรวจคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีต่อทารกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำให้ตรวจในสตรีตั้งครรภ์เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากยังคงต้องระวังในเรื่องการเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนหรือความดังของคลื่นความถี่วิทยุอาจมีผลต่อตัวอ่อนในระยะแรกได้ อีกอย่างหนึ่งคือการระวังในการฉีดสารเปรียบเทียบต่าง ซึ่งมีองค์ประกอบของโลหะหนัก (gadolinium) ซึ่งมีความเป็นพิษและอาจเกิดการแพ้ได้

     การกลัวที่แคบ

          เนื่องจากเครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามีลักษณะเป็นอุโมงค์ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยนอนไม่สบายตัวนัก และในการตรวจบางอย่างที่ต้องใช้เวลาในการตรวจนานๆ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกกลัวที่แคบได้ ทำให้ไม่สามารถนอนนิ่งๆ ได้