การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลอดเลือด

หลอดเลือดแดงสมอง ภาพหน้าตรง

หลอดเลือดแดงสมอง ภาพด้านข้าง

วิธีการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องตรวจ MRI

     การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง MRI เราเรียกว่า MRA Brain (Magnetic Resonance Angiography) มีวิธีการตรวจคือ นำผู้ป่วยเข้าเครื่องตรวจ MRI โดยมี Head Coil เป็นอุปกรณ์รับสัญญาณจากการนำคลื่นวิทยุ (RF) เข้าไปกระตุ้นในสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แล้วนำสัญญาณที่ได้ไปสร้างภาพโดยไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี เทคนิคที่ใช้ในการสแกนมี 2 แบบ คือ PCA (Phase Contrast Angiography) และ TOF (Time Of Flight) เป็นเทคนิค 3D T1W_FFE ทั้งสองแบบต่างกันที่ TR และ TE และเวลาที่ใช้ในการตรวจนับตั้งแต่นำผู้ป่วยเข้าห้องตรวจจนกระทั่งออกจากห้องตรวจใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ค่าใช้จ่ายในการตรวจ 10,000 บาท (ราคากรมบัญชีกลาง : ในบางกรณีการทำ MRA Brain จะมีการตรวจ MRI Brain ด้วยซึ่งเวลา และค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มมากกว่าเดิม) เรานำภาพที่ได้จากการ Scan โดยตรง (raw data) มาทำการสร้างภาพใหม่ (reconstruction) ที่ work station โดยการตัดหลอดเลือดที่ไม่ต้องการออก การหมุนรอบ 180 องศา หรือ หมุนขึ้นลง เพื่อดูขอบเขตของหลอดเลือดที่ต้องการได้หลายมุมมอง วิธีการสร้างภาพใหม่แบบนี้เรียกว่า MIP

การเตรียมผู้ป่วยเพื่อรับการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI)

     ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่ต้องงดอาหาร และน้ำดื่ม ยกเว้น ในผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึก ได้แก่ ผู้ป่วยกลัวที่แคบ กลัวเสียงดัง กลัวที่มืด ผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ จำเป็นต้องงดอาหาร และน้ำดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
1. ซักประวัติ และข้อมูลของผู้ป่วย
     1.1 โรคประจำตัว : โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคกลัวที่แคบ กลัวเสียงดัง
     1.2 การแพ้ยา : สารเปรียบเทียบความชัดของภาพ (Gadolinium)
     1.3 การผ่าตัดใส่โลหะ : เครื่องควบคุม/กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ลิ้นหัวใจ ข้อเข่าเทียม
2. อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการตรวจอย่างคราวๆ
3. แนะนำให้ผู้ป่วยสวมเสื้อที่ไม่มีโลหะ มารับการตรวจ
4. ติดต่อห้องตรวจคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ตามวันนัดตรวจ และควรมาก่อนเวลานัด 30 นาที

หลอดเลือดดำสมอง ภาพหน้าตรง

หลอดเลือดดำสมอง ภาพด้านข้าง

การพยาบาลผู้ป่วยขณะรับการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI)

     พยาบาลประจำห้องตรวจคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) นอกจากจะดูแลผู้ป่วยขณะรับการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก ต้องดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างตรวจในเครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในขณะตรวจ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และป้องกันการเกิดภาวะหยุดหายใจจากการได้รับยาระงับความรู้สึก ดังนี้คือ
1. ต้อนรับผู้ป่วยและญาติ ด้วยท่าทีที่สุภาพ อบอุ่น เป็นกันเอง เพื่อลดความตึงเครียด ความวิตกกังวล และความกลัวต่อการตรวจ
2. ประเมินความพร้อมของผู้ป่วยซ้ำก่อนเข้าห้องตรวจหลอดเลือดทางรังสี ดังนี้
     2.1 ความถูกต้องของตัวบุคคล (Patient Identification) และแผนการรักษา
     2.2 ความถูกต้องของใบส่งตรวจ
3. ซักประวัติ และข้อมูลของผู้ป่วย
     3.1 โรคประจำตัว : โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคกลัวที่แคบ กลัวเสียงดัง
     3.2 ประวัติการผ่าตัดใส่โลหะในร่างกาย โดยเฉพาะเครื่องควบคุม/กระตุ้นการเต้นของหัวใจ
     3.3 ประวัติการแพ้สารเปรียบเทียบความชัดของภาพ
     3.4 ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างตรวจ: งดอาหาร และน้ำดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
4. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการตรวจอย่างคร่าวๆ พร้อมกับให้ผู้ป่วยและญาติ เซ็นใบยินยอมรับการตรวจ
5. ดูแลให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล พร้อมทั้งถอดเครื่องประดับ แว่นตา ต่างหู ฟันปลอม
6. นำผู้ป่วยเข้าห้องตรวจ และอุดหูด้วย Ear plugs ทั้งสองข้าง
7. ในผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างตรวจ
     7.1 ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจน
     7.2 ตรวจวัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital Signs) ทุก 15 นาที
8. เตรียมสารเปรียบเทียบความชัดของภาพ และดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารเปรียบเทียบความชัดของภาพทางหลอดเลือดดำ
9. ลงบันทึกการพยาบาล (Nursing Document) และส่งต่อข้อมูลให้หอผู้ป่วยทราบ

การพยาบาลผู้ป่วยภายหลังการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI)

     ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยต้องนอนในเครื่องตรวจเป็นเวลานานประมาณ 15-30 นาที และมีเสียงดัง แต่ไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างตรวจ
     1. ก่อนผู้ป่วยลุกออกจากเตียงตรวจ ดูแลและสังเกตอาการวิงเวียนศีรษะ อาจให้ผู้ป่วยนั่งพักรอดูอาการต่ออีกประมาณ 5-10 นาที
     2. ดูแลให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน
     3. แนะนำการมารับผลตรวจ และอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามั่ว อาเจียนพุ่ง มีไข้ หนาวสั่น เป็นต้น และการมาตรวจตามแพทย์นัด
     5. เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ