เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

 

     เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นวิธีการทางภาพทางการแพทย์ที่ใช้เทคนิคที่เรียกกันว่า tomography ซึ่งเป็นการสร้างภาพแบบ 3 มิติ คือมี กว้าง ยาว สูง จากชุดของภาพเอกซเรย์ที่ได้ใน 2 มิติ แต่เดิมจะเรียกเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ว่า “electromagnetic imaging (EMI) scan” และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น computed axial tomography (CAT or CT scan) ข้อมูลภาพเอกซเรย์ที่ได้จะถูกสร้างให้มีลักษณะเป็นปริมาตร ซึ่งสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะในการนำเสนอเป็นภาพอวัยวะในมุมมองต่างๆ ได้ตามต้องการ

 

ประโยชน์

     เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องทางรังสีวินิจฉัยที่มีประโยชน์ในการประเมินลักษณะทางกายวิภาคของอวัยวะต่างๆ และในด้านการทำงานโดยร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี (สารประกอบไอโอดีน) เพื่อดูการทำงานของเนื้อเยื่อในอวัยวะนั้นๆ และลักษณะของหลอดเลือด ปัจจุบันเป็นการตรวจที่นิยมเนื่องจากใช้เวลาในการตรวจน้อย แต่ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีที่ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามด้วยวิวัฒนาการทำให้สามารถแสดงภาพได้ในมุมมองต่างๆ และภาพ 3 มิติ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
      การตรวจที่นิยมส่งตรวจได้แก่

  • สมอง

  • ศีรษะและลำคอ

  • ทรวงอกและปอด

  • ตับ

  • ช่องท้องทั้งหมด

 ข้อด้อย 

     คือภาพการตรวจกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะให้รายละเอียดได้ในระดับหนึ่ง จึงแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจด้วยเครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแทน

ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โพรงจมูก

ประวัติ

     นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี ชื่อ Alessandro Vallebona ได้รายงานการใช้เทคนิค tomography ประมาณปีพ.ศ. 2475 แต่การพัฒนาเป็นไปอย่างช้าๆ จนราว พ.ศ. 2514ซึ่งได้มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์แล้ว นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญคือ Godfrey Newbold Hounsfield และ Allan McLeod Cormack ร่วมกันพัฒนาเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จนผลิตออกมาเพื่อการค้าในประเทศอังกฤษ และทั้งสองได้รับรางวัล Nobel ร่วมกันในสาขาการแพทย์ในปี พ.ศ. 2522

แม่แบบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

     แม่แบบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2514 โดยเป็นเครื่องที่มีตัวรับภาพ 160 จุด และหลอดเอกซเรย์หมุนได้ 180 องศา ซึ่งในการสแกน 1 ครั้ง ต้องใช้เวลาประมาณ 5 นาที และใช้เวลาอีก 2.5 ชม. ในการสร้างภาพบนมินิคอมพิวเตอร์ ต่อมาได้พัฒนาเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับการตรวจสมอง ซึ่งต้องใช้เวลาสแกนภาพละ 4 นาที และใช้เวลาในการสร่างภาพอีก 7 นาที นั่นคือต้องใช้ราว 11 นาทีต่อการสแกน 1 ภาพ และต้องมีระบบถังน้ำที่หุ้มยางไว้ ซึ่งจะช่วยลดพลวัตของรังสีที่จะไปยังตัวรับภาพ จึงจะได้ภาพที่ดี แต่กระนั้นภาพที่ได้ก็ยังมีรายละเอียดที่ต่ำอยู่ โดยเป็นภาพขนาด 80 x 80 pixels. ซึ่งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกได้ติดตั้งที่ Atkinson Morley Hospital เมือง Wimbledon ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ทำการสแกนผู้ป่วยรายแรกในปี พ.ศ. 2515

 

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดภาพตัดขวางพื้นฐาน Conventional Axial CT scanner

     หลอดเอกซเรย์ภายในเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะหมุนเป็นวงรอบผู้ป่วย เพื่อให้ลำรังสีผ่านตัวผู้ป่วย 1 รอบต่อ 1 ภาพที่จะได้ โดยเตียงจะเลื่อนไปทีละตำแหน่ง ภาพที่ได้จะถูกนำมาสร้างเป็นภาพตัดขวางของอวัยวะได้ทีละภาพ

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบเกลียว Helical or spiral CT

     เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบเกลียวได้ผลิตขึ้นในปี 2533 โดยติดหลอดเอกซเรย์และตัวรับภาพไว้บนแกนที่หมุนได้อย่างอิสระ ระหว่างการสแกน เตียงจะเลื่อนไปอย่างเร็ว ทำให้การสแกนอวัยวะปกติใช้เวลาเพียง 20-60 วินาที ซึ่งมีข้อดีเพิ่มขึ้นคือ

1) ผู้ป่วยกลั้นใจได้ตลอดช่วงการสแกน ทำให้ลดการไหวของภาพได้

2) สามารถสแกนร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีได้

3) ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีรายละเอียดที่ดีขึ้น และสามารถนำมาสร้างเป็น 3 มิติได้

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด Multislice CT

     เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด Multislice CT มีแนวคิดคล้ายกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดเกลียวแต่มีวงแหวนตัวรับภาพ 2 วง ซึ่งออกแบบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2536โดยบริษัท Elscint (Haifa) โดยเรียกชื่อว่า CT TWIN ปัจจุบันมีการผลิตออกมาในหลายรูปแบบตามจำนวนตัวรับภาพ โดยเรียกเป็น 4, 8, 16, 32, 40 และ 64 slice ซึ่งทำให้ความเร็วในการสแกนเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือราว 3 วินาทีต่อการสแกน 1 รอบ ซึ่งจะได้ภาพตามจำนวนของ slice และได้ภาพละเอียดสูงถึง 0.35 มม. ทำให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในการตรวจภาพของหลอดเลือด ภาพ 3 มิติ และมีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อใช้ในการปรับแต่งภาพในมุมมองต่างๆ

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ชนิด 2 แหล่งกำเนิด Dual-source CT

     เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด 2 แหล่งกำเนิดได้พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Siemens ซึ่งมีแหล่งกำเนิดเอกซเรย์ 2 หลอด และมีตัวรับภาพ 64 แถว จำนวน 2 ชุด ซึ่งได้ออกสู่ตลาดในปีพ.ศ. 2548 มีข้อคือลดมุมของการหมุนของหลอดเอกซเรย์ และได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงขึ้น มีความเหมาะสมกับการตรวจหลอดเลือดหัวใจ การตรวจแคลเซียม และอุปกรณ์เทียมที่ใส่ไว้ในร่างกาย เช่น โครงลวดถ่างขยายหลอดเลือด

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ชนิด 256+ slice CT

     ในปีพ.ศ. 2550 บริษัทฟิลิปส์ ได้นำเสนอเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด 256 slice และบริษัทโตชิบาได้นำเสนอเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด 320 slices ความก้าวหน้าในทางเทคนิคกำลังมุ่งไปสู่การลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับ และการได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงสำหรับการตรวจหลอดเลือดและการตรวจการทำงานของสมอง

อันตราย

     ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขึ้นอยู่กับการขอบเขตการสแกนอวัยวะ รูปร่างของผู้ป่วย จำนวนและความละเอียดในการตัด ซี่งยังต้องแยกระหว่างการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในผู้ใหญ่และในเด็ก หากต้องพิจารณาในเชิงปริมาณรังสี การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ และคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

ตารางเปรียบเทียบปริมาณรังสี

การตรวจ

ปริมาณรังสี (mSv)

(milli rem)

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีน้อย Low-Dose CT Scan

     ประเด็นสำคัญในทางรังสีวิทยาทุกวันนี้ก็คือการลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับระหว่างการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แม้ว่าการให้ปริมาณรังสีที่มากจะทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงมากกว่าก็ตาม แต่จะต้องเปรียบเทียบข้อได้กับข้อเสีย โดยอาจลดปริมาณรังสีลงได้บ้าง ตามโปรแกรมช่วยต่างๆ การปรับค่าพารามิเตอร์ในการสแกนให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการประเมินความจำเป็นของการตรวจนั้นๆเพื่อลดการตรวจที่ไม่จำเป็นลง

ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง

ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลอดเลือดผิดปกติ

การแพ้สารทึบรังสี

     ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้นมักจะมีการฉีดสารทึบรังสีซึ่งเป็นสารประกอบไอโอดีนร่วมด้วย เพื่อเปรียบเทียบเนื้อเยื่อก่อนและหลังการฉีด อย่างไรก็ตามจะมีผู้ป่วยบางรายที่สามารถแพ้สารทึบรังสี ซึ่งป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนประเภทการตรวจ เช่นการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเลือกใช้สารทึบรังสีกลุ่มไม่มีประจุ ซึ่งจะมีอัตราการแพ้ที่น้อยกว่า รวมไปถึงการให้ยาแก้แพ้ล่วงหน้าก่อนการตรวจ ก็จะช่วยลดอาการแพ้สารทึบรังสีได้ กระนั้นผลอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยคือสารทึบรังสีจะขับออกทางไต ดังนั้นจึงมีผลต่อไตด้วย โดยในการฉีดสารทึบรังสีจะพิจารณาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไตอยู่ในระดับดี (Cr<2)